แผลกดทับ ส่วนมากมักพบในผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ได้แก่สามารถเคลื่อนไหวได้น้อยจนถึงกรณีผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องใช้ชีวิตประจำอยู่แต่บนเตียง ทำให้อวัยวะบางบริเวณที่สำคัญคือ ก้น หลัง ศรีษะด้านหลังที่หนุนหมอนได้รับแรงกดทับ ทำให้เลือดไหลเวียนไปยังบริเวณนั้น ๆ ได้ลดลง และเมื่อเนื้อเยื่อได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ก็จะทำให้เนื้อเยื่อถูกทำลายและเกิดเป็นเนื้อตาย
หรือในกรณีที่พบได้บ่อยคือแผลที่ก้น เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีน้ำหนักตัวกดทับมากที่สุดแล้ว ยังถูกเสียดสีจากผ้าอ้อมที่ใส่เป็นเวลานาน ทำให้อุจจาระ หรือปัสสาวะกัดผิวที่บางทำให้เกิดเป็นแผล ปัญหานี้จะรุนแรงกว่าที่พบในเด็ก เนื่องจากในผู้สูงอายุหลายท่านนั้นมีโรคเบาหวานร่วมด้วย จึงทำให้การหายของแผลเกิดขึ้นได้ช้ากว่า แผลจึงมักเป็นแผลเรื้อรัง ดูแลรักษาได้ยาก สร้างความเจ็บแสบและลดทอนคุณภาพชีวิตในบั้นปลายชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แผลกดทับจะมีระยะเริ่มต้นและเพิ่มระดับความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยในแต่ระดับก็มีลักษณะของแผลและการดูแลที่แตกต่างกัน หากเป็นแผลกดทับแต่ไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีและเหมาะสม ก็อาจส่งผลเสียในระยะยาว เกิดเป็นการอักเสบ ติดเชื้อ และอาจรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ แผลกดทับสามารถแบ่งตามลักษณะแผลได้ 4 ระดับ และ 2 ลักษณะ ดังนี้
ระดับ 1 : มีรอยแดงบริเวณผิวหนัง หากใช้มือกดบริเวณรอยแดง รอยแดงจะไม่จางหายไป ผิวหนังยังสมบูรณ์ ไม่เกิดการฉีกขาด
การดูแลให้ผิวผู้ป่วยอยู่ในระดับนี้เป็นเรื่องที่ดีที่สุด เพราะผู้ดูแลสามารถทำการดูแลเองได้ ไม่ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
การดูแล
- ทำการพลิกตะแคงตัวให้ผู้ป่วยบ่อย ๆ อย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง โดยหลีกเลี่ยงการลากดึง
- หมั่นเปลี่ยนผ้าอ้อม โดยเฉพาะหลังจากการถ่ายหนัก
- จัดผ้าปูที่นอนให้เรียบตึง แห้ง และสะอาดอยู่เสมอ
- ไม่ให้นวดหรือประคบร้อนบริเวณผิวหนังที่มีรอยแดง
- ดูแลผิวหนังให้สะอาดทำความสะอาดหลังการขับถ่ายด้วยสำลีชุบน้ำเปล่าทุกครั้ง ซับให้แห้ง และหลีกเลี่ยงการขัดถูบริเวณรอยแดง
- การใช้สเปรย์เคลือบผิวหนังเพื่อลดการครูด และการสัมผัสของอุจจาระและปัสสาวะที่ผ้าอ้อม รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทครีม หรือขี้ผึ้งบำรุง เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนังจะเป็นประโยชน์มาก
ระดับ 2 : เริ่มมีการสูญเสียของชั้นผิวหนังบางส่วน เห็นเป็นลักษณะแผลตื้น มีพื้นแผลสีชมพู หรือแดง บางกรณีอาจพบเป็นตุ่มน้ำใส
การดูแล
- ทำการพลิกตะแคงตัวให้ผู้ป่วยทุก 2 ชั่วโมง เพื่อลดการกดทับแผล และช่วยให้เลือดไหลเวียน
- ทำแผลโดยใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อ ทำความสะอาดรอบแผลและภายในแผล ทา povidone iodine เหมือนการรักษาแผลสด และใช้ผลิตภัณฑ์ปิดแผล ที่ควบคุมความชุ่มชื้นให้กับแผล ได้แก่ วัสดุปิดแผลชนิดแผ่นตาข่ายที่เคลือบด้วยสารที่ให้ความชุ่มชื้น เป็นต้น
ระดับ 3 : มีการสูญเสียชั้นผิวหนังไปจนถึงชั้นไขมัน พื้นแผลบางส่วนอาจมีเนื้อตายสีเหลือง จนถึงอาจเกิดเป็นโพรงแผล
การดูแล
- ทำความสะอาดแผลโดยใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อ
แผลตื้น : ให้ใช้สำลีชุบน้ำเกลือ เช็ดทำความสะอาดแผลอย่างเบามือ โดยเช็ดจากข้างในแผลออกข้างนอกแผล
โพรงแผลลึก : ให้ใช้กระบอกฉีดยาบรรจุน้ำเกลือ ฉีดล้างทำความสะอาดแผล จนน้ำยาทำความสะอาดแผลมีความใส
- ใช้ผลิตภัณฑ์ปิดแผลตามคำแนะนำขอแพทย์และพยาบาล
- กรณีมีไข้ หรือแผลเป็นหนอง มีกลิ่นเหม็น ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อรับการดูแลรักษาที่เหมาะสม
ระดับ 4 : สูญเสียผิวหนังทั้งหมด จนถึงชั้นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูก
การดูแล
- เนื่องจากแผลมีความลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และกระดูก มักพบเป็นแผลที่มีการติดเชื้อ จึงควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาและให้การดูแลแผลที่เหมาะสม
ลักษณะที่ไม่สามารถระบุระดับได้
พื้นแผลทั้งหมดมีลักษณะถูกปกคลุมด้วยเนื้อตาย จนไม่สามารถประเมินความลึกของแผล หรือมองไม่เห็นความลึกของการสูญเสียชั้นผิวหนัง
การดูแล
- ต้องทำการกำจัดเนื้อตายเพื่อการประเมินความลึกและการสูญเสียชั้นผิวหนัง จึงควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสมโดยแพทย์และพยาบาล
ลักษณะแผลกดทับที่มีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อชั้นลึก
พื้นแผลมีการเปลี่ยนแปลงสีเป็นสีม่วง หรือสีแดงช้ำ ผิวหนังอาจเกิดการฉีกขาด หรืออาจยังไม่เกิดการฉีกขาดก็ได้ พบเป็นตุ่มน้ำเลือดอยู่ข้างใน
การดูแล
- ทำการพลิกตะแคงตัวให้ผู้ป่วยบ่อย ๆ อย่างน้อยทุก 2 ชั่วโมง โดยใช้ผ้ารองยกตัว และหลีกเลี่ยงการลากดึง
- จัดผ้าปูที่นอนให้เรียบตึง แห้ง และสะอาดอยู่เสมอ เพราะรอยย่นของผ้าปูที่นอนจะทำให้ผิวหนังที่แดงแล้วเกิดเป็นแผลกดทับได้ง่าย
- ปิดแผลด้วยผลิตภัณฑ์ปิดแผลตามคำแนะนำของแพทย์หรือพยาบาล
สิ่งสำคัญในการดูแลแผลกดทับ คือ ต้องลดภาวะเสี่ยงจากการกดทับ หรือการเสียดสี ดูแลและทำความสะอาดตามลักษณะของแผล ปิดแผลด้วยผลิตภัณฑ์ปิดแผลตามคำแนะนำของแพทย์ รวมไปถึงการบรรเทาอาการเจ็บปวดจากแผลกดทับ เพื่อให้ผู้ป่วยกลับมายิ้มได้อีกครั้ง
ที่มา : คลินิกออสโตมีและแผล ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช. (2561). การดูแลแผลกดทับเบื้องต้น, จาก. https://www.dop.go.th/download/knowledge/th1614841298-562_0.pdf