แผลกดทับ มักพบในผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวร่างกายเองได้น้อยหรือไม่ได้เลย ส่งผลให้ต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ติดแต่กับเตียง เกิดจากการกดทับซ้ำ ๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน หากมีการปรับเปลี่ยนท่าทางการนั่ง นอน มีการลดแรงกดทับ และมีการดูแลแผลอย่างถูกวิธี แผลก็สามารถที่จะหายเป็นปกติได้ แต่หากเป็นแล้วไม่ได้รับการดูแลรักษา หรือบรรเทาอาการเจ็บปวด อาจส่งผลร้ายแรงจนเกิดการติดเชื้อบริเวณแผล และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
ดังนั้นลูก ๆ หลาน ๆ ควรทำความรู้จักกับแผลกดทับ ปัจจัยความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิด แผลกดทับ ตลอดจนวิธีดูแลรักษาที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ แผลกดทับ เกิดขึ้นกับคนที่คุณรัก
แผลกดทับคืออะไร
แผลกดทับ คือ การถูกทำลายเฉพาะที่ของผิวหนังและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง เกิดจากการที่อวัยวะในร่างกายได้รับการกดทับ หรือเสียดสี เป็นเวลานาน ทำให้การไหลเวียนเลือดไปยังเนื้อเยื่อบริเวณนั้นลดลง เนื้อเยื่อได้รับอาหารและออกซิเจนไม่เพียงพอ เนื้อเยื่อจะถูกทำลายและตายในที่สุด ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บและเป็นแผล มักเกิดบริเวณปุ่มกระดูก เช่น ก้นกบ ด้านข้างสะโพก ส้นเท้า เป็นต้น
ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดแผลกดทับ
ปัจจัยภายนอก
- แรงกด หากอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายถูกกดทับเป็นเวลานาน จะส่งผลให้เลือดไหลเวียนมาเลี้ยงเนื้อเยื่อไม่เพียงพอ และเมื่อไม่ได้รับอาหารและออกซิเจน จะส่งผลให้เนื้อเยื่อถูกทำลายและตาย
- แรงเสียดสี เกิดขึ้นจากการที่พื้นผิว 2 พื้นผิว สัมผัสและเกิดการเคลื่อนสวนกัน เช่น บริเวณผิวหนังของร่างกายกับพื้นผิวรองรับต่าง ๆ อย่างเสื้อผ้า ที่นอน เป็นต้น
- แรงเฉือน เป็นแรงที่กระทำในแนวขนานกับพื้นผิว ในขณะที่ผิวหนังอยู่นิ่ง แต่เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังมีการเคลื่อนที่ เกิดจากการที่ชั้นผิวหนังถูกรั้ง มักเกิดขึ้นเมื่อผู้ป่วยนอนไถลตัวลงมา ขณะที่เตียงปรับระดับสูง ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณก้นกบเกิดการดึงรั้ง เกิดเป็นการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อที่อยู่ลึกลงไป
ปัจจัยภายใน
- ความสูงอายุ ผิวหนังจะมีการเปลี่ยนแปลง ผิวหนังบางและมีความยืดหยุ่นลดลง ทำให้มีโอกาสได้รับบาดเจ็บได้ง่ายขึ้น และกระบวนการซ่อมแซมผิวหนังก็จะใช้เวลานานขึ้น
- การขาดการเคลื่อนไหว มักเกิดในผู้ป่วยที่มีระดับความรู้สึกตัวบกพร่อง อ่อนแรง อัมพาต ทำให้ความสามารถในการเคลื่อนย้ายตัวเองมีจำกัด ต้องนอนติดเตียงตลอดเวลา เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดแผลกดทับ
- สูญเสียการรับรู้ความรู้สึก เช่น ความรู้สึกเจ็บ การรับรู้ถึงการสัมผัส
- ภาวะทุพโภชนาการ เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารและปริมาณที่ไม่เหมาะสม ขาดน้ำ ขาดอาหาร ทำให้ร่างกายมีลักษณะผอม ผิวหนังบาง เห็นกระดูกและปุ่มกระดูกชัดเจน
- ความเปียกชื้น ความชื้นที่มาจากการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ทำให้เกิดความอับชื้นขณะใส่ผ้าอ้อม จะทำให้เนื้อเยื่อชั้นลึกของผิวหนังอ่อนแอ
- โรค โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับเส้นเลือด อาจมีการส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตของร่างกาย
วิธีการดูแลรักษาแผลกดทับ
- ลดแรงกดทับ และภาวะเสี่ยงจากการกดทับ ควรจัดท่าให้พลิกตัวอย่างน้อย ทุก 2 ชั่วโมง ศีรษะควรนอนหนุนให้ไม่สูงเกิน 30 องศา จัดไม่ให้นั่งหรือนอนในท่าที่จะทำให้เกิดการกดทับแผล ไปจนถึงการใช้อุปกรณ์ช่วยลดแรงกดทับ เช่น ที่นอนลม ฟูกชนิดพิเศษ แผ่นโฟมปิดบริเวณปุ่มกระดูกเพื่อลดแรงเสียดสี แผ่นเจลลดแรงกดทับ เป็นต้น
- หมั่นดูแลทำความสะอาดแผล ขึ้นอยู่กับระดับของแผลกดทับ และอาการติดเชื้อ โดยแพทย์จะพิจารณาการทำแผลและวัสดุปิดแผลให้เหมาะสมกับลักษณะแผล เพื่อลดการเสียดสีที่ผิวหนัง
- การตัดเนื้อตาย เนื้อเยื่อที่ถูกทำลายจะขัดขวางการหายเป็นปกติของแผล โดยแผลกดทับจะหายเป็นปกติได้จะต้องไม่มีการติดเชื้อ หรือเนื้อเยื่อที่ตาย แพทย์จะทำการตัดเนื้อเยื่อที่ตายออก และให้ยาปฏิชีวนะ ตลอดจนการดูแลรักษาต่าง ๆ เพิ่มเติมตามความเหมาะสม